ชาว ต.วังหงส์ กิ๋นใหญ่ บุญหลวง - Phrae Business

Phrae Business

หนังสือพิมพ์ ธุรกิจแพร่

Breaking

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ชาว ต.วังหงส์ กิ๋นใหญ่ บุญหลวง

       เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น.  ที่บริเวณ วัดวังหงส์ใต้ ชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 3-6-2-7 ต.วังหงส์ อ.เมือง จ.แพร่ โดยการนำของ นายกฤษดา อินทราวุธ กำนัน ต.วังหงส์ ฝ่ายปกครอง พร้อม นายเจริญ อินทราวุธ นายกเทศมนตรี ต.วังหงส์ ฝ่ายบริหาร ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีกิ๋นสลาก เพื่ออนุรักษ์ประเพณีที่มีมาช้านาน  พระครูวิมล ขันติพลากร เจ้าอาวาสวัดวังหงส์ใต้ เจ้าคณะตำบลวังหงส์-ท่าข้าม พร้อมคณะศรัทธาวัดวังหงส์ใต้ ทั้ง 4 หมู่บ้าน ทางด้าน นายสว่าง ตื้อยศ อดีตประธานวัฒนธรรม ต.วังหงส์ ให้ข้อมูลว่า ทาง ต.วังหงส์ มีการอพยพมาจากในตัวเมืองแพร่ จากบ้านนีว บ้านเชตวัน เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา บรรพบุรุษต้นกำเนิดได้มาบุกถางที่ทางประกอบอาชีพทำนา และทำไร่ในยุคต้นๆการสัญจรไปมาลำบากจะต้องอาศัยเรือล่องมาตามแม่น้ำยมแล้วมาขึ้นฝั่งที่ตั้ง ต.วังหงส์ในปัจจุบัน จากครอบครัวหนึ่งจนกระทั่งมีครอบครัวอื่นๆตามกันมาเพื่อมาทำนาทำไร่จนเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ (เสมือนอยู่กลางเกาะ) แต่การสัญจรก็ต้องอาศัยเรือข้ามฝาก และล่องเรือไปในตัวเมืองแพร่เพราะมีแม่น้ำยมเป็นตัวกั้นเขตติดต่อ  
       ในปี 2440 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ได้มีการประกาศเลิกทาส และให้คนสยามในยุคดังกล่าวมีนามสกุลแต่การตั้งชื่อ นามสกุล เกิดขึ้นเป็นทางการใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ฉะนั้น ตระกูลคำว่า หงส์ จึงเกิดขึ้นในยุคดังกล่าว ในตำนานได้เล่าขานไว้ว่า มีชาวบ้านได้ไปพบเห็น หงส์ 2 ตัวลงเล่นน้ำในวังน้ำในบริเวณพื้นที่ตั้ง ต.วังหงส์ในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงได้นำไปตั้งนามสกุล เริ่มแรกใช้ชื่อนามสกุลว่า หงส์ 1 จนถึง นามสกุลหงส์ 39 และต่อท้ายด้วยปราบหงส์และหงส์ละออ จนถึงปัจจุบัน แต่บางนามสกุลหงส์ต่างๆอาจจะอยู่ไม่ครบเพราะบางนามสกุล มีแต่ทายาทเป็นผู้หญิงจึงไม่มีการสืบทอดวงศ์ตระกูล (เพราะกฎหมายไทยเมื่อก่อนยังไม่เสรีเหมือนปัจจุบันในการใช้นามสกุลตัวเองหรือนามสกุลสามี สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว) ฉะนั้นตระกูลหงส์จึงมีไม่ครบ ใน ต.วังหงส์ มีวัดอยู่ 2 วัด 1.สำนักสงฆ์ คือ วัดวังหงส์เหนือ วัดวังหงส์ใต้ และวัดพระธาตุดอยตน จาก วัดวังหงส์ใต้ ที่ห่างเหินการอนุรักษ์กิ๋นสลากมาเป็นเวลา 20 กว่าปี ในปีนี้ทางคณะศรัทธาวัดวังหงส์ใต้ จึงได้ร่วมสืบสานประเพณีกิ๋นสลาก ในปี 2562 ทำให้ผู้คนสารทิศต่างมาร่วมงานกันมากมายและอีกประการหนึ่ง ชาวบ้านที่ไปประกอบอาชีพ หรือรับราชการในต่างถิ่นต่างจังหวัดและลูกหลานที่รู้ข่าวต่างมาร่วมงานกัน แสดงถึงความรักความผูกพันกับถิ่นเกิดและเพื่อแสดงถึงการอนุรักษ์รักษาประเพณี กิ๋นสลากให้อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาและอยู่ในท้องถิ่นกันต่อไป ในบริเวณวัดวังหงส์ใต้ เต็มไปด้วย ต้นสลากการกัลปพฤกษ์ กัณฑ์ต้นสลาโชค (โจ้ก) และกัณฑ์สลากน้อยชะลอม (ก๋วยขี้ปุ๋ม) และคณะศรัทธา สาธุชนต่างมีสีหน้าที่เต็มไปด้วยอิ่มบุญ สนุกสนานที่ได้ร่วมกิน ร่วมทาน ในงานประเพณีฯในบริเวณงานยังมีรำวงย้อนยุค ให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ร่วมสืบสานประเพณีดังกล่าว กับคำว่า กิ๋นหอม ต๋อมม้วน กับบุญใหญ่บุญหลวง สำหรับคำขวัญของ ชาว ต.วังหงส์ คือ ตระกูลหงส์เป็นตำนาน สองวัดงามสง่า พระธาตุดอยตนคนศรัทธา ชาวประชาสามัคคี 
       อีกประการหนึ่ง ชาว ต.วังหงส์ ทุกคนมีความสามัคคี มีบุคลกรที่มีชื่อเสียง ในปัจจุบัน คือ นายกมล เชียร์วงศ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา, นายนิกร ยะกะจาย ดำรงตำแหน่งนายอำเภอชุมตาบง จ.นครสวรรค์ และอดีต นายอำเภอหลายอำเภอ คือ นายอดุลย์ หันพงศ์กิตติกุล และยังมีบุคลากรที่มีตำแหน่งสำคัญๆในจังหวัดแพร่ และทั่วประเทศอีกหลายท่าน ด้านฝ่ายบริหาร และการปกครองของทุกฝ่ายมีความสามัคคีพร้อมเพียงกันทุกฝ่าย จึงเกิดเป็น ตำบลที่มีความสุขและตำบลที่มีความพร้อมทุกอย่างกับสภาวะปัจจุบัน

หนานน้อย เวียงโกศัย : ข่าว    
เบียร์ : เรียบเรียง 
เฟรน : กราฟิก 
แจ็ค : การตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Pages